< Back to insights hub

Article

ความชำรุดบกพร่องและหลักความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมายในมุมมองกฎหมายไทย7 March 2023

เกิดกระแสความกังวลขึ้นในภาคการก่อสร้างและวิศวกรรมของประเทศไทยในเรื่องการพิจารณาของศาลและอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับปัญหาความชำรุดบกพร่องในการออกแบบและความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมายของโครงการ ซึ่งทำให้ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาต่างตั้งคำถามถึงขอบเขตของหน้าที่ในการออกแบบของตน โดยความกังวลดังกล่าวส่วนหนึ่งมีผลมาจากกระแสวิจารณ์ทางกฎหมายถึงผลกระทบของคำพิพากษาศาลสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักรในปี 2560 ในคดีระหว่าง MT Højgaard และ E.ON (“คดี MT Højgaard”)¹ ซึ่งศาลตัดสินว่าในสัญญาที่กำหนดให้ผู้รับเหมาต้องทำงานโดยใช้ทักษะความชำนาญและความเอาใจใส่ตามสมควร (reasonable skill and care) และต้องสร้างผลงานให้เหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย (fit for purpose) นั้น ในกรณีที่มาตรฐานสองประการดังกล่าวขัดแย้งกัน หน้าที่ในการปฏิบัติตามหลักความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย (fitness for purpose) ย่อมมีความสำคัญมากกว่า

"จึงเป็นการยากสำหรับผู้รับเหมาที่จะพิจารณาถึงความเสี่ยงด้านการออกแบบที่ตนต่อรองไว้กับผู้ว่าจ้างได้อย่างถี่ถ้วน เว้นแต่ในสัญญาจะมีการใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนและแน่นอน"

แนวคิดทางกฎหมายดังกล่าวสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. การใช้ทักษะความชำนาญและความเอาใจใส่ตามสมควร (reasonable skill and care) คือ มาตรฐานความสามารถตามบริบทอันพึงคาดหมายได้โดยปริยาย ซึ่งกำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งต้องทำงานอย่างน้อยที่สุดให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำอันพึงจะคาดหมายได้จากบุคคลผู้มีความชำนาญในวิชาชีพอย่างเดียวกัน
  2. ความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย (fitness for purpose) คือ ความมุ่งหมาย อันเป็นมาตรฐานที่ระบุในสัญญาซึ่งกำหนดให้ผลงานของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งต้องมีความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมายซึ่งได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า

ประเด็นหลักที่ผู้รับเหมากังวลคือการที่สัญญาจำนวนมากในประเทศไทยเกิดจากการร่างและแก้ไขสัญญารูปแบบมาตรฐานอย่างเร่งรีบ จึงเป็นการยากสำหรับผู้รับเหมาที่จะพิจารณาถึงความเสี่ยงด้านการออกแบบที่ตนต่อรองไว้กับผู้ว่าจ้างได้อย่างถี่ถ้วน เว้นแต่ในสัญญาจะมีการใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนและแน่นอน ซึ่งในบางกรณีเจตนาโดยรวมของคู่สัญญาในเรื่องหน้าที่ของผู้รับเหมาในการออกแบบก็ไม่มีความชัดเจน ประกอบกับแนวทางการพิจารณาของศาลไทยที่มักไม่มีการหยิบยกหลักการใดเป็นการเฉพาะมาพิจารณาถึงหน้าที่ของผู้รับเหมาเกี่ยวกับการออกแบบ ฝีมือการทำงาน หรือวัสดุ ในกรณีที่ถ้อยคำตามสัญญาเรื่องหน้าที่ในการออกแบบนั้นไม่ชัดเจน

มุมมองของกฎหมายไทยในเรื่องความชำรุดบกพร่องในงาน วัสดุ และการออกแบบ

การทำความเข้าใจมุมมองของกฎหมายไทยในเรื่องความรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกี่ยวกับการออกแบบ ฝีมือการทำงาน หรือวัสดุ ตลอดจนแนวคิดในเรื่องความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย (fitness for purpose) และการใช้ทักษะความชำนาญและความเอาใจใส่ตามสมควร (reasonable skill and care) ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างของไทยนั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาบทบัญญัติในเรื่องจ้างทำของและซื้อขายทรัพย์สินภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (“ปพพ.”) ซึ่งความเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในปัจจุบันยังมีไม่มากนัก อย่างไรก็ดี สามารถสรุปมุมมองของกฎหมายไทย (ตามลำดับที่ปรากฏในปพพ.) ได้ดังนี้

"อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือศาลไทยจะพิจารณาและปรับใช้มาตรฐาน "ความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย (fitness for purpose)" ในเชิงอัตวิสัย และมาตรฐาน "ความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา (fitness for purpose of the contract)" ซึ่งมีการระบุไว้ในสัญญาโดยผู้ว่าจ้าง ในเชิงภาวะวิสัยอย่างไร"

  1. ถ้าความชำรุดบกพร่องในงานที่ทำนั้นเกิดจากคุณภาพของวัสดุซึ่งผู้ว่าจ้างจัดหามาให้หรือเพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ผู้รับเหมาย่อมไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้น เว้นแต่ผู้รับเหมาได้ทราบอยู่แล้วว่าวัสดุนั้นมีคุณภาพไม่เหมาะสมหรือคำสั่งของผู้ว่าจ้างนั้นไม่ถูกต้อง แต่ไม่แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ผู้ว่าจ้างทราบ²
  2. ผู้รับเหมาต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากวัสดุที่ผู้รับเหมาจัดหามา³
  3. ผู้รับเหมาไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากวัสดุที่ผู้รับเหมาจัดหามา หากเป็นกรณีดังนี้ (ก) ผู้ว่าจ้างได้ทราบถึงความชำรุดบกพร่องนั้นอยู่แล้ว ณ เวลาที่ผู้รับเหมาทำงาน หรือควรจะทราบได้เช่นนั้นหากผู้ว่าจ้างได้ใช้ความระมัดระวังอันพึงจะคาดหมายได้จากวิญญูชน หรือ (ข) ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วใน เวลาส่งมอบงานที่ทำ และผู้ว่าจ้างรับมอบงานที่ทำนั้นโดยมิได้อิดเอื้อน⁴
  4. ผู้รับเหมาไม่ต้องรับผิดหากผู้ว่าจ้างยอมรับมอบงานที่ชำรุดบกพร่องโดยไม่ได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยาย เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ขณะเมื่อรับมอบการที่ทำหรือผู้รับเหมาได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องดังกล่าวไว้⁵

แม้สิ่งที่ ปพพ. ได้กำหนดไว้ข้างต้นจะมีความชัดเจน  แต่มีข้อสังเกตว่าบทบัญญัติเหล่านี้มีการอ้างถึง “การที่ทำ” (งาน) และ “สัมภาระ” (วัสดุ) แทนการอ้างถึงการออกแบบ ฝีมือการทำงาน และวัสดุแต่ละรายการแยกจากกัน จากการตีความบทบัญญัติตามปพพ.ดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่า แนวคิดโดยทั่วไป ของคำว่า “งาน” มักจะประกอบด้วยองค์ประกอบสามอย่างเสมอ กล่าวคือ องค์ประกอบในเรื่องการออกแบบ ฝีมือการทำงาน และวัสดุ เนื่องจากแต่ละองค์ประกอบนั้นมีความสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการก่อสร้างและวิศวกรรมด้วยกันทั้งสิ้น

เมื่อพิจารณาในทางปฏิบัติ แนวคิดของคำว่า “การที่ทำ” (งาน) นั้นเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจากสัญญาในภาคการก่อสร้างมากกว่าที่จะเกิดขึ้นจากกฎหมาย โดยมักจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ ดังนั้นปพพ. จึงรับรองแนวคิดนี้เพื่อทำให้ข้อสัญญาในเรื่องดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติบางประการในเรื่องการซื้อขายทรัพย์สินจะเห็นได้ว่า ปพพ.ได้วางแนวทางที่ศาลไทยอาจใช้ในการพิจารณาและตัดสินปัญหาความรับผิดของผู้รับเหมาที่เกิดจากการออกแบบ ฝีมือการทำงาน หรือวัสดุที่ชำรุดบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 472 ที่กำหนดว่าความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องนั้นย่อมเกิดขึ้นเมื่อความชำรุดบกพร่องดังกล่าวเป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่ซื้อขาย

< Back to insights hub

"สิ่งที่ผู้เขียนเห็นได้จากคำพิพากษาของศาลไทยที่เกี่ยวข้องในเรื่องการก่อสร้างและวิศวกรรมซึ่งมีอยู่เพียงไม่มากนั้นคือแนวทางการพิจารณาของศาลไทยยังคงไม่มีความชัดเจน"

  1. เสื่อมราคา
  2. เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายจะใช้ทรัพย์สินนั้นตามปกติ และ/หรือ
  3. เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา⁶

หากพิจารณาในเบื้องต้น เหตุประการที่ 2 และ 3 ข้างต้นซึ่งอาจก่อให้เกิดความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น มีความคล้ายคลึงกับแนวคิดเรื่องการใช้ทักษะความชำนาญและความเอาใจใส่ตามสมควร (reasonable skill and care) และความเหมาะสมกับความมุ่งหมาย (fitness for purpose) ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายอังกฤษและมีการนำมาพิจารณาในคดี MT Højgaard อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือศาลไทยจะพิจารณาและปรับใช้มาตรฐาน “ความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย (fitness for purpose of the contract)” ในเชิงอัตวิสัย และมาตรฐาน “ความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา” ซึ่งมีการระบุไว้ในสัญญาโดยผู้ว่าจ้าง ในเชิงภาวะวิสัยอย่างไร

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ประเทศไทยยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่สามารถให้แนวทางโดยละเอียดว่าศาลไทยจะพิจารณาและตัดสินเรื่องความชำรุดบกพร่องในการออกแบบและความรับผิดอย่างไรหากในสัญญาได้กำหนดทั้งหน้าที่ในการการปฏิบัติตามหลักความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย (fitness for purpose) และหน้าที่ในการใช้ทักษะความชำนาญและความเอาใจใส่ตามสมควร (reasonable skill and care)  นอกจากนี้ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่ามาตรา 472 ของปพพ. (ในเรื่องการซื้อขายทรัพย์สิน) จะสามารถนำไปปรับใช้กับโครงการก่อสร้างและวิศวกรรมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและฝีมือการทำงานได้อย่างไร

เมื่อปี 2544 มีคำพิพากษาในคดีเกี่ยวกับการก่อสร้างสะพานพระราม 9 ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งศาลฎีกาได้รับรองทั้งหน้าที่ของผู้รับจ้างที่จะต้องทำงานด้วยการใช้ทักษะความชำนาญและความเอาใจใส่ตามสมควร และหน้าที่ในการส่งมอบโครงการซึ่งเป็นไปตามประโยชน์ที่มุ่งหมายตามความประสงค์ ส่งผลให้ในคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาให้วิศวกรผู้ออกแบบและวิศวกรผู้ควบคุมงานหลายคนต้องรับผิดเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสองประการดังกล่าวโดยการเลือกวัสดุก่อสร้างที่ไม่เหมาะสมมาใช้ในโครงการ อย่างไรก็ตาม คำพิพากษานี้ไม่ได้มีการอธิบายว่าหากมาตรฐานทั้งสองประการดังกล่าวขัดแย้งกัน มาตรฐานใดจะมีความสำคัญมากกว่ากัน

"แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดจากคำพิพากษาของศาลไทยคือ ศาลไทยมักจะบังคับตามข้อกำหนดในสัญญาที่มีการร่างและนิยามไว้อย่างชัดเจน และในกรณีที่หลักการต่าง ๆ ขัดแย้งกัน ศาลไทยจะมุ่งค้นหาเจตนารมณ์ร่วมกันของคู่สัญญาโดยพิจารณาจากพฤติการณ์แวดล้อมทั้งปวง"

ในกรณีอื่น ๆ ที่ความชำรุดบกพร่องอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นในโครงการ ซึ่งหลายครั้งมักเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลารับประกันความชำรุดบกพร่อง (คล้ายกับความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นในคดี MT Højgaard) แต่ดูเหมือนว่าข้อกำหนดในสัญญาที่กำหนดความรับผิดในการออกแบบและความรับผิดเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องอาจไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาอย่างเต็มที่ เมื่อปี 2540 ศาลฎีกาของไทยได้มีคำพิพากษาตัดสินให้ผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาต้องร่วมกันรับผิดในการก่อสร้างฝายที่ชำรุดบกพร่องซึ่งพังทลายลงหลังจากก่อสร้างเสร็จไม่นาน การพิจารณาดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกต เนื่องจากตามข้อเท็จจริงนั้น ผู้ว่าจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบที่ชำรุดบกพร่องอันเป็นผลทำให้ฝายที่สร้างไม่เหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมายของโครงการในขณะที่ผู้รับเหมาน่าจะได้ใช้ทักษะความชำนาญและความเอาใจใส่ตามสมควรในการทดสอบดินโดยรอบและวัสดุก่อนทำการก่อสร้างแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าการที่ผู้รับเหมาต้องร่วมรับผิดด้วยนั้นเป็นผลมาจากการที่ฝายพังทลายลงภายในหนึ่งปีซึ่งยังอยู่ในระยะเวลารับประกันความชำรุดบกพร่องตามที่ระบุไว้ในสัญญาของโครงการ หรือมีการพบส่วนที่ชำรุดบกพร่องของฝายหลังจากที่ผู้ว่าจ้างรับมอบงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว⁷ จากกรณีดังกล่าว ผู้เขียนเห็นถึงความไม่แน่นอนว่าศาลไทยจะมีแนวทางการพิจารณาในเรื่องความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย (fitness for purpose) และการใช้ทักษะความชำนาญและความเอาใจใส่ตามสมควร (reasonable skill and care) อย่างไร และศาลจะตัดสินคดีอย่างไรในกรณีที่มีการระบุหลักการทั้งสองนี้ในสัญญาเดียวกัน

สิ่งที่ผู้เขียนเห็นได้จากคำพิพากษาของศาลไทยที่เกี่ยวข้องในเรื่องการก่อสร้างและวิศวกรรมซึ่งมีอยู่เพียงไม่มากนั้นคือแนวทางการพิจารณาของศาลไทยยังคงไม่มีความชัดเจน

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดจากคำพิพากษาของศาลไทยคือ ศาลไทยมักจะบังคับตามข้อกำหนดในสัญญาที่มีการร่างและนิยามไว้อย่างชัดเจน และในกรณีที่หลักการต่าง ๆ ขัดแย้งกัน ศาลไทยจะมุ่งค้นหาเจตนารมณ์ร่วมกันของคู่สัญญาโดยพิจารณาจากพฤติการณ์แวดล้อมทั้งปวง ดังนั้น การเลือกใช้สัญญาที่ใช้บังคับตามกฎหมายไทยซึ่งมีพื้นฐานมาจากสัญญารูปแบบมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ เช่น ชุดสัญญา FIDIC ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย อาจสามารถเพิ่มความชัดเจนแน่นอนให้แก่ผู้รับเหมาและผู้ว่าจ้างได้

ในสถานการณ์ข้างต้น หากเป็นกรณีที่คู่สัญญาเป็นผู้ประกอบกิจการที่มีประสบการณ์ การนำบทบัญญัติของปพพ.ในเรื่องการตีความสัญญา รวมถึงแนวคิดในเรื่อง “ปรกติประเพณี”⁸ มาใช้ในการตีความสัญญาอาจทำให้คาดหมายได้ว่าคู่สัญญาจะมีความเข้าใจร่วมกันในเรื่องแนวคิดที่เป็นการเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม (industry-specific) ที่ได้รับการยอมรับ ทั้งนี้ ตามแนวทางคำพิพากษาของศาลและหลักเหตุผล ผู้เขียนเห็นว่าควรมีการนำหลักกฎหมายอังกฤษในเรื่องความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย (fitness for purpose) และการใช้ทักษะความชำนาญและเอาใจใส่ตามสมควร (reasonable skill and care) (และความสัมพันธ์ของทั้งสองหลักการดังกล่าวในคดี MT Højgaard) มาใช้ในโครงการก่อสร้างในประเทศไทยซึ่งใช้สัญญาที่มีพื้นฐานมาจากสัญญารูปแบบมาตรฐาน แม้จะเป็นแนวคิดตามกฎหมายต่างประเทศก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อ 4.1 ของชุดสัญญา FIDIC ปี 2542 (1999) อันเป็นชุดสัญญาซึ่งเป็นที่นิยม ได้กล่าวถึงเรื่อง “ความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย ” ยังคงมีอยู่และยังไม่มีการแก้ไข หรือมีการแก้ไขแต่เป็นการแก้ไขเพื่อให้การใช้ภาษามีความชัดเจนและแน่นอนขึ้น

ทั้งหมดนี้มีความหมายกับผู้รับเหมาอย่างไร?

เนื่องจากบริบทของกฎหมายไทยยังคงขาดความชัดเจนในเรื่องสถานะของหน้าที่ในการปฏิบัติตามหลักความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย (fitness for purpose) และหน้าที่ในการใช้ทักษะความชำนาญและความเอาใจใส่ตามสมควร (reasonable skill and care)  อีกทั้งแนวทางการพิจารณาของศาลไทยก็ยังไม่มีความแน่นอน ดังนั้น ผู้รับเหมาจึงควรคำนึงถึงประเด็นในทางปฏิบัติดังต่อไปนี้:

  1. ให้ความสำคัญกับการร่างสัญญาที่ชัดเจนมากกว่าการอาศัยการตีความบทบัญญัติในปพพ.

แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ผู้รับเหมาและผู้ว่าจ้างควรให้ความสำคัญกับการเจรจาปรึกษากันอย่างถี่ถ้วนและการจัดทำเอกสารที่ระบุถึงหน้าที่ตามสัญญาของแต่ละฝ่ายเกี่ยวกับมาตรฐานของงานให้ชัดเจน ในกรณีที่การประกวดราคาเป็นไปตามสัญญารูปแบบมาตรฐานผู้รับเหมาควรตกลงให้มีการแก้ไขเฉพาะเอกสารหลักโดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะหน้าที่ และกำหนดลำดับความสำคัญของข้อสัญญาให้ชัดเจนในกรณีที่สัญญามีการกำหนดทั้งเรื่องหน้าที่ในการใช้ทักษะความชำนาญและความเอาใจใส่ตามสมควร (reasonable skill and care) และหน้าที่ในเรื่องความเหมาะสมกับประโยชน์มุ่งหมาย (fitness for purpose)

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ปพพ.ไม่ได้ให้นิยามของคำว่า “ความชำรุดบกพร่อง” ไว้ ดังนั้น หากคู่สัญญาเลือกที่จะตกลงกันในเรื่องหน้าที่ในการออกแบบให้แตกต่างจากสัญญามาตรฐาน คู่สัญญาควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าสัญญาที่ร่างนั้นสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของคู่สัญญาอย่างชัดแจ้งเพื่อหลีกเลี่ยงการตีความของศาลไทยที่อาจไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของคู่สัญญาได้ ทั้งนี้ ขั้นตอนเหล่านี้อาจช่วยแก้ไขปัญหาแนวทางการพิจารณาคดีของศาลไทยที่ยังมีความไม่ชัดเจนได้เนื่องจากเป็นที่คาดหมายได้ว่าจะมีการบังคับตามเจตนารมณ์ร่วมกันของคู่สัญญาหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น

  1. ใช้การตีความตามหลัก “ปรกติประเพณี” เป็นเครื่องมือลำดับรอง

ในขณะที่มาตรา 171 และ มาตรา 368 ของปพพ. ในเรื่องการตีความน่าจะเป็นวิธีที่สะดวกในการนำแนวคิดกฎหมายต่างประเทศที่มีการใช้เป็นการทั่วไปในภาคอุตสาหกรรมมาปรับใช้ในโครงการก่อสร้าง/วิศวกรรมของไทย เช่น หลักการใช้ทักษะความชำนาญและความเอาใจใส่ตามสมควร (reasonable skill and care) และหลักความเหมาะสมกับประโยชน์มุ่งหมาย (fitness for purpose) แต่อย่างไรก็ตามผู้รับเหมาไม่ควรยึดบทบัญญัติดังกล่าวเป็นวิธีการหลักเพื่อทำให้เกิดความชัดเจน และควรยึดบทบัญญัติเหล่านี้ไว้เป็นเพียง “ช่องทางสำรอง” (back-up) โดยผู้รับเหมาควรให้ความสำคัญกับการร่างสัญญาให้ชัดเจนและแน่นอนเพื่อสะท้อนเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญามากที่สุด เนื่องจากโดยทั่วไปศาลไทยจะบังคับให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญาหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น

  1. พึงระลึกไว้ว่าความไม่แน่นอนบางอย่างก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แม้จะมีแนวทางที่อาจจะสามารถสร้างความชัดเจนได้มากขึ้นในเรื่องหน้าที่ตามสัญญาตามที่ได้แนะนำไปข้างต้นแล้วก็ตาม ผู้รับเหมาจำต้องยอมรับว่าความไม่แน่นอนบางประการก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อต้องปรับใช้หลักการใช้ทักษะความชำนาญและความเอาใจใส่ตามสมควร (reasonable skill and care) และหลักความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย (fitness for purpose) ในโครงการก่อสร้างของไทย ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นประการหนึ่งว่าแนวคำพิพากษาศาลฎีกาไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้นั้นมีอยู่อย่างจำกัดและไม่สามารถคาดเดาได้ และนอกจากนี้ยังมีความยากในการพิจารณาเรื่องอายุความที่บังคับใช้ในข้อพิพาท ซึ่งอายุความนั้นอาจมีความแตกต่างกันอย่างมากตั้งแต่หนึ่งปี⁹จนถึงสิบปี¹⁰ขึ้นอยู่กับว่าการเรียกร้องของผู้ว่าจ้างนั้นเป็นการเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากความชำรุดบกพร่องตามปพพ. หรือเป็นการเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ร่างไว้อย่างชัดเจนในสัญญาที่กำหนดหน้าที่ของผู้รับเหมาในเรื่องการออกแบบ วัสดุ ฝีมือการทำงานและหน้าที่ในการปฏิบัติตามหลักความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย โดยสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผู้รับเหมาไม่สามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับทุกเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในบริบทการก่อสร้างของไทยได้

นอกจากการที่ผู้รับเหมาในประเทศไทยควรที่จะจัดทำร่างสัญญาอย่างละเอียดตามสัญญามาตรฐานร่วมกับการใช้แนวคิดในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว ผู้รับเหมาจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเมื่อต้องกำหนดเรื่องการแบ่งหน้าที่ในการออกแบบและกำหนดหน้าที่ในเรื่องการใช้ทักษะความชำนาญและความเอาใจใส่ตามสมควร (reasonable skill and care) และหน้าที่ในการปฏิบัติตามหลักความเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย (fitness for purpose)

[1] คดีระหว่าง MT Højgaard A/S และ E.ON Climate and Renewables UK Robin Rigg East Ltd และพวก ปี 2560 [2017] ศาลสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักร 59 บีแอลอาร์ 477
[2] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 7 จ้างทำของ มาตรา 591
[3] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 7 จ้างทำของ มาตรา 595 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 2 หน้าที่และความรับผิดของผู้ขาย ส่วนที่ 2 ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง มาตรา 472
[4] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 7 จ้างทำของ มาตรา 595 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะที่ 1 หมวด 2 หน้าที่และความรับผิดของผู้ขาย ส่วนที่ 2 ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง มาตรา 473
[5] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 7 จ้างทำของ มาตรา 598
[6] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 2 หน้าที่และความรับผิดของผู้ขาย ส่วนที่ 2 ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง มาตรา 472
[7] ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 7 จ้างทำของ มาตรา 598
[8] โปรดดู ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 4 นิติกรรม หมวด 2 การแสดงเจตนา มาตรา 171 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 2 สัญญา หมวด 1 ก่อให้เกิดสัญญา มาตรา 368
[9] ตามที่ระบุใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 7 จ้างทำของ มาตรา 601
[10] ตามที่ระบุใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 อายุความ หมวด 2 กำหนดอายุความ มาตรา 193/30

< Back to insights hub